วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 2 : NNRTIs

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 2  : NNRTIs


               ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs: Non-nucleoside reverse-transcriptase inhibitors) เป็นกลุ่มยารับประทานหนึ่งหมวดที่ถูกนำมารักษาโรคเอดส์หรือเอชไอวี มีการพัฒนายา กลุ่มนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) และถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ.2552) เป็นจำนวน 4 รายการ และมักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น ด้วยเชื้อไวรัสสามารถพัฒนาตัวเองให้ทนต่อยาที่นำมาใช้รักษาได้มากขึ้นเรื่อยๆ
             
               เป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัสเอชไอวีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เอชไอวี 1 และ เอชไอวี 2 ชนิดที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือเอชไอวี 1 ในขณะที่ชนิดเอชไอวี 2 จะแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก จากการเก็บสถิติตัวเลขจำนวนผู้ป่วยพบว่า ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ทั่วโลกถึงประมาณ 40 ล้านคน

               ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่นำมาบำบัดอาการป่วย ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้อาการป่วยทุเลา และยืดระยะเวลาการมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น ส่วนใหญ่ยาต้านไวรัสเอดส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมามีวัตถุประสงค์ของการบำบัดอาการป่วยจากไวรัสกลุ่มเอชไอวี 1 ซึ่งรวมถึงยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอนี้ และกลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs: Nucleoside reverse transcriptase) ด้วย

               สำหรับยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอประกอบด้วยตัวยาต่างๆ ดังนี้ เช่น Efavirenz, Nevirapine, Delavirdine, Etravirine, Rilpivirine

               ยาต้านไวรัสเอดส์ส่วนใหญ่ที่รวมถึงยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอขึ้นทะเบียนในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณดังนี้
- บรรเทาอาการป่วยด้วยโรคเอดส์
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีหลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

- ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะเข้าไปทำให้กระบวนการจำลองของสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ในตัวไวรัสสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ด้วยกลไกนี้จึงทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสเอดส์ชะลอตัวลง และทำให้อาการของผู้ป่วยบรรเทาและดีขึ้น

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาน้ำขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดขนาด 25, 50, 100, 200 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

               ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีหลายชนิด ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดยาที่ใช้บ่อยซึ่งมีขนาดรับประทานดังนี้

1. Efavirenz

ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ข. เด็กอายุ 3 - 17 ปี:
- น้ำหนักตัว 32.5 - 40 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 25 - 32.5 กิโลกรัม: รับประทาน 350 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 20 - 25 กิโลกรัม: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 15 - 20 กิโลกรัม: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 13 - 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
*หมายเหตุ:
- ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี การใช้ยา จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ และมักใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

2. Nevirapine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วปรับเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป: รับประทาน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วปรับเป็น 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*หมายเหตุ: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ และมักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ ตัวอื่น

3. Etravirine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ มักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กรวมทั้งดุลพินิจของแพทย์ ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร

4. Rilpivirine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
*หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึมยาที่ดีขึ้น
- ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

5. Delavirdine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในการศึกษาวิจัย
*หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
- ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

               เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

- หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานเมื่อลืมรับประทานยาต่างกันได้ขึ้นกับอาการของโรค ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อลืมรับประทานยา
- อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น


ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

- ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการผื่นคัน เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ (ซึ่งหากพบอาการตับทำงานผิดปกติต้องหยุดใช้ยา) มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์และคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ไตวาย โลหิตจาง เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หงุดหงิด นอนไม่หลับ วิงเวียน และอ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

               มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ
- ห้ามใช้ Efavirenz ร่วมกับยาต่อไปนี้ คือ Terfenadine (ยาแก้แพ้), Astemizole (ยาแก้แพ้), Cisapride (ยาโรคกระเพาะอาหาร), Midazolam (ยาให้นำเพื่อให้ง่วงนอนก่อนการให้ยาสลบ), Triazolam (ยานอนหลับ), Pimozide (ยารักษาโรคทางจิตเวช), Bepridil (ยาโรคหัวใจ), และ Voriconazole (ยาต้านเชื้อรา)
- พบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายหลังการใช้ยานี้ตามกำหนดนัดหมายอย่างเคร่งครัด
- ปกติหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอดส์จากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไต โรคตับ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
- หลังรับประทานยานี้แล้ว มีอาการคล้ายกับการแพ้ยาเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม
- ควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปลี่ยนแปลงขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

               การใช้ Nevirapine ร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Methadone อาจทำให้ฤทธิ์ของการรักษาจาก Methadone ด้อยลงไปหากมีไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่น Amiodarone สามารถลดความเข้มข้นของยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรปรับการรับประทานของผู้ป่วยให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาโรคลมชักเช่น Carbamazepine, Phenobarbital, และ Phenytoin สามารถลดความเข้มข้นของ Etravirine ในกระแสเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Efavirenz ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับและสมอง จึงห้ามการรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยา Delavirdine พร้อมยาลดกรด ควรรับประทานห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

               สามารถเก็บยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ


ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า                                                                                          บริษัทผู้ผลิต
Estiva-600 (เอสทิวา-600)                                                                Hetero
Stocrin (สะโตคริน)                                                                           MSD
Neravir (เนราเวียร์)                                                                      GPO
Nevirapine Mylan (เนวิราพีน มายแลน)                                          Mylan
Intelence (อินเทเลนซ์)                                                                  Janssen-Cilag
Edurant (เอดูแรนท์)                                                                      Janssen-Cilag
Viramune (วีรามูน)                                                                        Boehringer Ingelheim
GPO-Vir Z250 (จีพีโอ-เวียร์ ซีท250)                                             GPO
GPO-Vir S30 (จีพีโอ-เวียร์ เอส30)                                                 GPO
Atripla (อะทริพลา)                                                                       Gilead

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 1 : NRTIs

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 1 : NRTIs


               ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ (Nucleoside reverse-transcriptase inhibitors: NRTIs) เป็นหมวดยารับประทานที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสที่เรียกว่า รีโทรไวรัส (Retrovirus) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์หรือเอชไอวี โดยกลุ่มยาเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางการสร้างสารพันธุกรรมของรีโทรไวรัส ทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสชะลอตัว จึงส่งผลให้สภาพร่างกายผู้ป่วยดีขึ้น มีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์แต่ไม่ได้ทำการรักษา ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วย Zidovudine, Didanosine, Zalcitabine, Stavudine, Lamivudine, Abacavir, Emtricitabine, Entecavir

               โดยทั่วไปทางการแพทย์มักใช้ยาต้านไวรัสเอดส์มากกว่า 1 ชนิดให้กับผู้ป่วย อาจจะเป็นเหตุผลด้านประสิทธิภาพของการรักษาและลดอาการข้างเคียงของยาตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยว่าตอบสนองต่อตัวยาได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ตามกลุ่มยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นรวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต

               ยาต้านไวรัสเอดส์ส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?


               ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณดังนี้
- บรรเทาอาการป่วยของโรคเอดส์
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอดส์หลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย
- ใช้ป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อเอดส์จากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- ยาบางตัวในยากลุ่มนี้ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ บี (เช่น Lamivudine)

ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?


               กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอคือ เนื่องจากรีโทรไวรัสจะใช้เอนไซม์ที่ชื่อว่า Reverse-transcriptase เปลี่ยนสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งทำให้ไวรัสชนิดนี้แพร่พันธุ์และสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า ซีดี4 (CD4: Cluster of differentiation 4 ) ซึ่งยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ทำให้ชะลอการแพร่พันธุ์ของรีโทรไวรัส ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และยืดระยะเวลาของการมีชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา

ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?


               ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูล ขนาด 15, 20, 30, 100, 250, 300 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 25, 125, 150, 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs




               อาหารที่รับประทานตามปกติอาจจะเพียงพอที่จะให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะมีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้ยากเนื่องจากแผลในปากและคอ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายโดยเฉพาะไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับภาวะความเจ็บป่วย และทดแทนน้ำหนักที่สูญเสียไป อาหารที่รับประทานควรจัดให้ครบหมู่และมีความสมดุล และเลือกรับประทานชนิดอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มของอาหาร ได้แก่

               อาหารกลุ่มแป้ง: เช่น ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เผือก เป็นต้น จะให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงเกลือแร่ วิตามินและกากใยอาหาร ผู้ป่วยควรทานอาหารกลุ่มนี้ในทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4-6 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับข้าวหนึ่งถ้วย หรือขนมปัง 1 แผ่นหรือธัญพืช เช่น ซีเรียล 1 ชาม)

               ผักและผลไม้: ให้วิตามิน เกลือแร่ และ กากใยอาหาร ควรรับประทานทุกวัน วันละ 5 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับผลไม้ 1 ผล หรือผักสดชามใหญ่ หรือผลไม้แห้ง 1 ถ้วย หรือน้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้ว)

               เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว: ให้ทั้งโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ทานวันละ 2-3 ส่วนทุกวัน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับไข่ 2 ฟองเล็ก หรือเนื้อหมู ไก่ 100 กรัม หรือ เนื้อปลา 150 กรัม)

               ผลิตภัณฑ์จากนม: เช่น นมสด โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม ควรทานวันละ 3 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับนม 1 แก้ว หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย หรือเนยแข็ง 1 แผ่น)

               ไขมัน: จากน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เนย เนยเทียม รวมถึงไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะให้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E, K แคลเซียมและฟอสเฟต อย่างไรก็ดีหากทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ น้ำมันจากปลาซึ่งมีกรดไขมัน omega-3 สามารถช่วยลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น triglycerides และ LDL cholesterol และเพิ่ม HDL cholesterol ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายได้


               เนื่องจากผู้ป่วยอาจทานอาหารได้ยาก การเปลี่ยนรูปแบบการทานจากมื้อใหญ่ๆ มาเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารดูดซึมสารอาหารได้และควรทานอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้คล่องคอร่างกายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการ จะมีความต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่และจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 20-30% เมื่อเริ่มแสดงอาการหรือเป็นโรคเอดส์แล้ว ส่วนผู้ป่วยเด็กที่น้ำหนักตัวเริ่มลดจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอที่จะยืนยันปริมาณโปรตีนและไขมันที่ต้องการเป็นตัวเลขชัดเจน เมื่อติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยอาจต้องทานอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น 50-100% ของปริมาณปกติ คือประมาณ 85 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 72 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป และควรมีอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำหนักตัว วิตามินและเกลือแร่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ก็ควรจะได้มาจากการทานอาหารให้เพียงพอ เพราะการทานวิตามินเสริมปริมาณสูง เช่น วิตามินเอ สังกะสีหรือเหล็ก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ทานยาต้านไวรัสเอดส์


               ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะพบผลข้างเคียง คือภาวะผิดปกติของไขมัน (lipodystrophy) โดยรูปร่างของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือเบาหวานได้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ควรจะลดอาหารกลุ่มไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีมากในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องปรับอาหารโดยเน้นการทานผักและผลไม้ ประมาณ 5 ส่วนต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยเสริมการสร้างกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความเครียดและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น

อาหารเสริม


               ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก หันมาทาน วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยอาจทานอาหารเสริมหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงชนิดบ่อยๆ ทำให้การติดตามผลเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาบางอย่างชี้ว่าอาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการรักษา เช่น สารสกัดจากกระเทียมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา Saquinavir ลดลง และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Protease inhibitor ตัวอื่นๆ เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมุนไพร St. John’s wort ซึ่งใช้มากในต่างประเทศ พบว่ามีผลลดระดับยาในเลือดของ Indinavir ซึ่งเป็นยากลุ่ม Protease inhibitor เช่นกัน และอาจส่งผลต่อยากลุ่ม NNRTIs ด้วย


               ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มสนใจใช้สมุนไพรหลายชนิดรักษาเสริมกับการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่าสมุนไพรก็มีสารซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาของยาได้เช่นกัน ทางที่ดีหากจะใช้สมุนไพรร่วมในการรักษาก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบ เพื่อติดตามผลด้วย

วันอังคารที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ยาต้านเชื้อไวรัส เอชไอวี เอดส์

ยาต้านเชื้อไวรัส เอชไอวี เอดส์



               นับตั้งแต่เริ่มพบโรคเอดส์ เมื่อประมาณ 20 ปี ที่แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนายาต้านไวรัสมาโดยลำดับ นับตั้งแต่เริ่มพบยาตัวแรก คือ AZT เมื่อปี ค.ศ. 1987 จนถึงปัจจุบันมียาต้านไวรัสเอดส์ที่ได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอเมริกาแล้วถึง 3 กลุ่ม รวม 15 ตัว รวมถึงการพัฒนาเทคนิคการใช้ยาจากเดิมที่เคยใช้ยาเพียงตัวเดียว ในการยับยั้งไวรัส HIV ซึ่งสามารถควบคุมเชื้อได้เพียงระยะสั้น ๆ เนื่องจากเกิดการดื้อยาจากการกลายพันธุ์ (mutation) ในยีนส์ของไวรัส ต่อมามีการพัฒนาโดยการใช้ยาร่วมกัน 2 ชนิด พบว่าสามารถยับยั้ง HIV ได้นานขึ้น แต่ก็ได้ผลเพียงระยะหนึ่ง หลังจากนั้นก็เกิดการดื้อยา การรักษาจึงไม่ได้ผลเช่นเดียวกับการใช้ยาตัวเดียว จนในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา มีการพบยากลุ่ม protease inhibitors (PIs) มาร่วมในสูตรการรักษาเรียกว่า highly active antiretroviral therapy (HAART) โดยการใช้ยาหลายตัวร่วมกันแทนการใช้ยาเพียงตัวเดียว สามารถควบคุมไวรัสได้อย่างสิ้นเชิง
                   
               ยาต้านไวรัส ดังกล่าวจำแนกออกเป็น 3 กลุ่ม รวม 15 ตัว ซึ่งตัวยาทั้ง 3 กลุ่มนี้ จะแสดงฤทธิ์ยับยั้งวงจรชีวิตของไวรัสเอดส์ดังนี้

ยากลุ่มที่ 1 ขัดขวางไม่ให้สารพันธุ์กรรม (RNA) ของไวรัส เข้าไปรวมตัวกับสารพันธุ์กรรม (DNA) ในเซลล์ของคนได้ ยากลุ่มนี้มีชื่อย่อว่า NRTIs (Nucleoside reverse transcriptase inhibitors)

ยากลุ่มที่ 2 ทำให้ไวรัสไม่สามารถแบ่งตัวได้ ยากลุ่มนี้มีชื่อย่อว่า NNRTIs (Non-Nucleoside reverse transcriptase inhibitors)

ยากลุ่มที่ 3 ทำให้ไวรัส พิการ ยากลุ่มนี้มีชื่อย่อว่า Pi (Protease Inhibitors)

ปัจจุบันยาที่ใช้ต้านไวรัส 3 กลุ่ม มีชื่อทางการค้าดังนี้


ยากลุ่มที่ 1 มีชื่อย่อว่า NRTIs (Nucleoside reverse transcriptase inhibitors)


โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ ยาเดี่ยว (ใน 1 เม็ดมีตัวยาชนิดเดียว) และยาผสมรวมกัน (ใน 1 เม็ดมีตัวยา 2 ตัว )

ยาเดี่ยวใน 1 เม็ดมีตัวยาชนิดเดียว


1. AZT (Zidovudine) ชื่ออื่น ริโทรเวียร์ (Retrovir)
2. ddI (Didanosine) ชื่ออื่น ไวเด็กซ์ (Videx-EC ) ไดร์เวียร์ ( Drivir )
3. 3TC (Iamivudine) ชื่ออื่น อีพิเวียร์ (Epivir) รามีเวียร์ ( Lamevir )
4. ddC (Zalcitabine) ชื่ออื่น ไฮวิด (Hivid)
5. d4T (Stavudine) ชื่ออื่น ซีริท (Zerit) สตาเวียร์ (Stavir)
6. อาบาคาเวียร์ (Abacavir) ชื่ออื่น ไซย์เจน (Ziagen)

ยาผสมรวมกัน ใน 1 เม็ด มีตัวยา 2 ตัวขึ้นไป


1. AZT บวก 3TC มีชื่อว่า คอมบิเวียร์ (Combivir) ซีราเวียร์ ( Zeravir )
2. AZT บวก 3TC บวก อาบาคาเวียร์ ( Abacavir ) มีชื่อว่า ไตรซีเวีย (Trizivir)

ยากลุ่มที่ 2 มีชื่อย่อว่า NNRTIs(Non-Nucleosides reverse transcriptase inhibitors) ได้แก่


1.ไวรามูน (Viramune) ชื่ออื่น เนไวราปิน (Nevirapine) นีราเวียร์ ( Nelavir ) ชื่อย่อ NVP
2.สโตคริน (Stocrin) ชื่ออื่น อิฟาเวอเร็นซ์ (Efavirenz)
3.เรสคริปเตอร์ (Rescriptor) ชื่ออื่น ดีลาเวอร์ดีน (Delavirdine)
4.ไฮดรี (Hydre) ชื่ออื่น ไฮดรอคซียูเรีย (Hydroxyurea)
5.ดรอคเซีย (Droxia) ชื่ออื่น ไฮดรอคซียูเรีย (Hydroxyurea)
หมายเหตุ ยาข้อ 3, 4, 5 ในประเทศไทยยังไม่มีจำหน่าย

ยาผสมรวมกัน ใน 1 เม็ด มีตัวยา 3 ตัว เป็นยา กลุ่ม 1 + กลุ่ม 2 คือ


1.ยาจีพีโอเวียร์ (GPO vir-S30 และ GPO vir-S40 ) คือยา d4T + 3TC + NVP
2.ยาจีพีโอเวียร์ Z (GPOz 250) คือยา AZT + 3TC + NVP
หมายเหตุ เป็นยาขององค์การเภสัชเป็นผู้ผลิต

ยากลุ่มที่ 3 มีชื่อย่อว่า Pi (Protease Inhibitors)โดยแบ่งออกเป็น 2 แบบ 


คือ ยาเดี่ยว (ใน 1 เม็ดมีตัวยาชนิดเดียว ) และยาผสมรวมกัน ( ใน 1 เม็ดมีตัวยา 2-3 ตัว )

ยาเดี่ยวใน 1 เม็ดมีตัวยาชนิดเดียว


1.ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ชื่ออื่น นอร์เวียร์ (Norvir)
2.ซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ชื่ออื่น ฟอร์ทูเวส (Fortovase)
3.ครีซีแวน (Crixivan) ชื่ออื่น อินดินาเวียร์ (Indinavir)
4.ไวราเซ็ปท์ (Viracept) ชื่ออื่น เนลพินาเวียร์ (Nelfianvir)
5.แอมปรินาเวียร์ (Amprenavir) ชื่ออื่น เอเจนนิเวส (Agenevase)

ยาผสมรวมกัน ใน 1 เม็ด มีตัวยา 2 ตัว 


1.กาเล็ทตร้า (Kaletra) คือโลปินาเวียร์ (Lopinavir) บวก ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
ประโยชน์จากการใช้ยา รักษาผู้ติดเชื้อ โดยใช้ยาต้านไวรัสหลายตัวร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ ( highly active antiretroviral therapy )

ในปัจจุบันจะให้ประโยชน์ดังนี้ 


1.สามารถลดปริมาณไวรัสให้อยู่ในระดับที่น้อย จนตรวจวัดไม่ได้ ( undetectable level )
2.ทำให้ระดับภูมิคุ้มกัน CD4 เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณไวรัสลดน้อยลง
3.ทำให้การติดโรคแทรกซ้อน และอัตราการตายลดลงอย่างชัดเจน ผู้ป่วยจะมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น กลับขึ้นมาเป็นผู้ติดเชื้อ

โทษและผลข้างเคียงของยา


               ยานั้นมีคุณอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์ แม้ยาต้านไวรัสจะช่วยให้ผู้ที่ติดเชื้อ HIV สามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้โดยไม่ปรากฏอาการของเอดส์ แต่ปัญหาของยาต้านไวรัสเท่าที่พบผู้ติดเชื้อบางส่วน มีผลในเรื่องของสารเคมีตกค้างและผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการใช้ยาเป็นเวลานาน ด้วยเหตุผลนี้การที่ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสจึงต้องได้รับยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สำหรับรายละเอียดโทษและผลค้างเคียงของยาแต่ละชนิดมีดังต่อไปนี้

ความเป็นพิษของยากลุ่มที่ 1 NRTls


1. AZT คลื่นไส้, ปวดศรีษะ,โลหิตจาง, กล้ามเนื้ออ่อนแรงลีบเล็กลง
2. ddI ตับอ่อนอักเสบ,อุจจาระร่วง, คลื่นไส้, ปลายประสาทอักเสบ
3. ddC ปลายประสาทอักเสบ, คลื่นไส้
4. d4T ปลายประสาทอักเสบ, คลื่นไส้
5. 3TC ตับอ่อนอักเสบ
6. อาบาคาเวียร์ (Abacavir) มีไข้,ผื่น, มีอาการทางระบบทางเดินหายใจ,ทางเดินอาหาร

ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยา อาบาคาเวียร์ (Abacavir) 


               หากมีการเริ่มใช้ยาตัวนี้แล้วมีอาการแพ้จากผลข้างเคียงของยาคือ มีไข้ ผื่น มีอาการทางระบบการหายใจ และอาการของระบบทางเดินอาหาร ภายใน 42 วันแรกหลังเริ่มใช้ยานี้ และเมื่อหยุดการให้ยาตัวนี้แล้ว แม้คนไข้มักจะมีอาการดีขึ้น ก็ห้ามกลับมาใช้ยาตัวนี้ใหม่อีกครั้ง เพราะพบว่ามีการเสียชีวิตอย่างฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นแนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน

ความเป็นพิษของยากลุ่มที่ 2 NNRTls


1.ไวรามูน (Viramune) เกิดผดผื่นเม็ด,ตับอักเสบ
2.สโตคริน (Stocrin) มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง เช่น มึนงง, ฝันประหลาด

ความเป็นพิษของยากลุ่มที่ 3 


1.ซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ชื่ออื่น ฟอร์ทูเวส (Fortovase)ปวดศรีษะ,อุจจาระร่วง
2.ริโทนาเวียร์ (Ritonavir) ปลายประสาทอักเสบ,คลื่นไส้,อาเจียน,ตับอักเสบ
3.ครีซีแวน (Crixivan) เม็ดเลือดแดงที่ตายแล้วในกระแสเลือดสูงขึ้น จนเป็นอันตรายต่อเซลล์สมอง,ปวดหัว,อ่อนเพลีย
4.ไวราเซ็ปท์ (Viracept) ถ่ายเหลว,ท้องเสีย,อ่อนเพลียเหนื่อยง่าย
5.กาเล็ทตร้า (Kaletra) ท้องเสีย,ทำให้ไขมันอุตตันในกระแสเลือด,ปลายประสาทอักเสบ,คลื่นไส้,อาเจียน ,ตับอักเสบ

ข้อแนะนำการรักษา


               การรักษาผู้ติดเชื้อ โดยการใช้ยาเพื่อควบคุมปริมาณของไวรัสเอดส์ ไม่ให้สูงเกินไปแต่เพียงด้านเดียว ดูจะไม่สมบูรณ์นัก ความจริงแล้วควรใช้ยาบำรุงรักษาระบบภูมิคุ้มกันควบคู่กันไปด้วยน่าจะครบถ้วนกว่า แนวทางการรักษาแนะนำว่า ควรรักษาทั้ง 2 ด้าน ควบคู่กันไป เพราะเท่าที่ติดตามเฝ้าดูอาการของคนไข้ ที่ผ่านมา พบว่าคนไข้ที่ใช้ยาต้านไวรัสแต่เพียงด้านเดียว คนกลุ่มนี้มักมีสุขภาพที่มีปัญหาบ่อย บางรายมีอาการแพ้ยาเป็นระยะ ๆ ตับมีปัญหา และหากมีการใช้ยาในระยะยาว อาจจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม เช่น หลังจากใช้ยาไปเป็นเวลานาน แม้ผลการรักษาจะพบว่าปริมาณไวรัสของคนไข้ลดลงต่ำกว่า 50 copy/มล ซึ่งถือว่าปลอดภัย แต่ตรงกันข้ามระดับภูมิคุ้มกันของคนไข้ CD4 แทนที่จะสูงเพิ่มขึ้นกลับต่ำลงมากเช่นกัน ซึ่งภาวะนี้ไม่ถือว่าเชื้อดื้อยาเนื้องจากไวรัสอยู่ในเกนณ์ที่ต่ำ แต่เกิดจากปริมาณของภูมิคุ้มกัน CD4 ไม่ถูกสร้างขึ้นมา ทำให้ภูมิต่ำติดโรคง่าย โดยเฉพาะในรายที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง มักเกิดภาวะโรคแทรก ตรงจุดนี้คือปัญหาของการใช้ยาต้านไวรัสแต่เพียงด้านเดียว ตรงกันข้ามสำหรับในกลุ่มคนที่ใช้ยาต้านไวรัส ร่วมกันกับการใช้ยาบำรุงรักษาระบบภูมิคุ้มกันควบคู่กันไปเช่นการใช้ยาสมุนไพรแบบสกัดดีๆ ที่มีข้อมูลทางวิทยาศสตร์ว่ามีฤทธิ์ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกัน และเสริมด้วยวิตามิน c วิตามินบี 6 หรือจะใช้อาหารเสริมเพิ่มควบคู่กันไปก็ดี พบว่าสิงเหล่านี้สามารถช่วยให้คนไข้กลุ่มนี้ให้มีสุขภาพที่ดีมากกว่า กลุ่มคนไข้ที่ใช้แต่ยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวกล่าวคือในคนที่ใช้ยาต้านไวรัสร่วมกันกับยาบำรุงรักษาระบบภูมิคุ้มกัน ผลการรักษาไม่ว่าจะเป็นในระยะสั้นหรือระยะยาวการเกิดภาวะระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม ตับมีปัญหา ตุ่มคันตามตัว พบว่ามีน้อยกว่า โดยเฉพาะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ก็จะน้อยกว่าเช่นกัน เมื่อได้มีการเปรียบเทียบแล้ว พบสุขภาพร่างกายของคนกลุ่มนี้จะดีและแข็งแรงกว่า กลุ่มคนไข้ที่ได้รับแต่ยาต้านไวรัสแต่เพียงอย่างเดียว เชื่อว่าการรักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัสร่วมกันกับการใช้ยารักษาระบบภูมิคุ้มกันควบคู่กันไปน่าจะดีกว่าการใช้ยาต้านไวรัสแต่เพียงอย่างเดียว


การใช้ยาต้านไวรัส


               ก่อนอื่นต้องเรียนให้ทราบถึงปัญหาของการใช้ยาต้านไวรัสกันอีกครั้งว่า เมื่อใช้ยาต้านไวรัสไปแล้วมักจะพบปัญหาจากผลข้างเคียงของยา ปัญหาการดื้อยา ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงปัญหาคุณภาพชีวิตที่ต้องกินยาให้ถูกต้องสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนานตลอดชีวิต ดังนั้นการให้ยาต้านไวรัสในคนที่ยังมีระดับภูมิคุ้มกัน CD4 สูงอยู่ จะถูกชะลอการให้ยาออกไปก่อน แต่ก็ต้องมีการติดตามผลทางสุขภาพ และผลของระดับภูมิคุ้มกัน CD4 ของผู้ติดเชื้อทุกระยะ 3 เดือน เพื่อหาจังหวะที่ถูกต้องและเหมาะสมในการเริ่มใช้ยา

สำหรับข้อพิจารณาการให้ยาต้านไวรัสจะพิจราณาโดยหลัก 3 ประการดังนี้


1.ประวัติสุขภาพในอดีตและปัจจุบัน
2.ผลการตรวจเลือดวัดระดับภูมิคุ้มกันที่เรียกว่า CD4
3.ผลการตรวจเลือดวัดระดับปริมาณไวรัสในร่างกายที่เรียกว่า viral load

จากหลักในการพิจารณาดังกล่าวได้แบ่งผู้ติดเชื้อออกเป็น 2 กลุ่มคือ


กลุ่มที่ 1. ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีอาการของโรคแทรกซ้อน
กลุ่มที่ 2. ผู้ติดเชื้อที่มีอาการของโรคแทรกซ้อนแล้ว

กลุ่มที่ 1 ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ยังไม่มีอาการ แบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ


1.1 ผู้ติดเชื้อที่มี CD4 น้อยกว่า 200 เซล/ลบ มม. ควรเริ่มใช้ยาต้านไวรัส
1.2 ผู้ติดเชื้อที่มี CD4 มากกว่า 350 เซล/ลบ มม. อาจจะชะลอ การใช้ยาในผู้ป่วยที่มี CD4 ระดับนี้ออกไปก่อนและติดตามตรวจนับ CD4 ทุก 3 เดือน

กลุ่มที่ 2 ผู้ติดเชื้อ ที่มีอาการของโรคแทรกซ้อนแล้ว


               กรณีที่ป่วยเป็นวัณโรค,เชื้อราในเยื่อหุ้มสมอง,ปอดอักเสบ,อุจจาระร่วงเรื้อรัง ควรเริ่มใช้ยาต้านไวรัส แต่การเริ่มใช้ยาต้านควรเริ่มในจังหวะที่เหมาะสม โดยต้องพิจารณาด้วยว่ามียาต้านไวรัสตัวใดบ้าง ที่ออกฤทธิ์ต่อต้านกับยารักษาโรคติดเชื้อแทรกซ้อนที่กำลังใช้อยู่ เช่น ถ้าป่วยเป็นวัณโรคและใช้ยา rifampicin รักษาอยู่ จะห้ามใช้ยาต้านไวรัส กลุ่มที่ 3 PIs หรือผู้ป่วยที่มีอาการอจุจาระร่วงเรื้อรังรุนแรงอยู่ อาจมีปัญหาการดูดซึมของยาเข้าสู่ร่างกาย จึงยังไม่ควรเริ่มใช้ยาต้านไวรัส รวมถึงควรดูปัญหาผลข้างเคียงของยาต้านไวรัสที่จะใช้ และสุขภาพของผู้ป่วยมีความพร้อมที่ทนต่อผลข้างเคียงของยา รวมถึงการให้ความร่วมมือในการกินยาอย่างถูกต้องสม่ำเสมอเมื่อเริ่มใช้ยา

สูตรการให้ยาแบบจับคู่ยา


การให้ยาต้านไวรัสในผู้ติดเชื้อ โดยการจับคู่ยาอาจแบ่งออกเป็น 2 สูตรคือ


1.สูตรยา ARV ( antiretroviral drug ) 


เป็นการให้ยา 2 -3 ตัวร่วมกัน แต่จะใช้เฉพาะยากลุ่มที่ 1 NRTIs สูตรยา HAART เป็นการนำยากลุ่มที่ 2 NNRTIs หรือนำยา กลุ่มที่ 3 PIs เข้ามาร่วมจับคู่กับสูตรยา กลุ่มที่ 1 NRTIs

คู่ที่ 1 AZT + ddI
คู่ที่ 2 AZT + 3TC
คู่ที่ 3 AZT + ddC
คู่ที่ 4 d4T + ddI
คู่ที่ 5 d4T + 3TC

ยาที่ห้ามใช้ร่วมกัน 


คู่ที่ 1 AZT + d4T
คู่ที่ 2 ddI + ddC
คู่ที่ 3 d4T + ddC

2.การให้ยาแบบสูตร HAART


เป็นการนำยากลุ่มที่ 2 NNRTIs เข้ามาร่วมกับสูตรยา กลุ่มที่ 1 NRTIs หรือนำยากลุ่มที่ 3 PIs เข้ามาร่วมกับสูตรยา กลุ่มที่ 1 NRTIs เช่นกัน

AZT + ddI + สโตคริน (Stocrin)
AZT + 3TC + ครีซีแวน (Crixivan) + ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
d4T + 3TC + ไวราเซ็ปท์ (Viracept)
d4T + ddI + ซาควินาเวียร์ (Saquinavir) + ริโทนาเวียร์ (Ritonavir)
3TC + ddI + กาเล็ทตร้า (Kaletra)
AZT + ddC + ไวรามูน (Viramune)
หรืออาจจะได้สูตร อื่น ต่างจากนี้

หมายเหตุ


               1.AZT + 3TC + อาบาคาเวียร์ (Abacavir) เป็นยาสูตรพิเศษชื่อ Tizivir เป็นการจับคู่ 3 ตัว เฉพาะยากลุ่มที่ 1 NRTIs แต่ข้อควรระวังสำหรับการใช้ยา อาบาคาเวียร์ (Abacavir) หากมีการเริ่มใช้ยาตัวนี้แล้วมีอาการแพ้จากผลข้างเคียงของยาคือ การเกิด hypersensitivity ได้ อาการนี้คือกลุ่มอาการ flu-like จะมีไข้ ผื่น มีอาการทางระบบการหายใจส่วนบน และอาการของระบบทางเดินอาหาร มักเกิดภายใน 42 วันแรก หลังเริ่มใช้ยานี้ และในคนที่มีอาการดังกล่าวเมื่อหยุดการให้ยาตัวนี้แล้วคนไข้มักจะมีอาการดีขึ้น และที่สำคัญปัญหาที่พบ ถ้ามีการกลับมาใช้ยาตัวนี้ใหม่อีกครั้ง พบว่ามีการเสียชีวิตอย่างฉับพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นห้ามกลับมาใช้ยาตัวนี้อีกครั้ง แนะนำให้เปลี่ยนไปใช้ยาอื่นแทน

               2.ยากลุ่มที่ 3 ซาควินาเวียร์ (Saquinavir) ควรใช้ร่วมกับยาริโทนาเวียร์(Ritonavir) จะได้ผลดีกว่าการใช้แต่ยาซาควินาเวียร์ (Saquinavir) เพียงตัวเดียวกรณีผลการรักษาล้มเหลวให้พิจารณาเปลี่ยนยาใหม่โดยดูจากจากสิ่งต่อไปนี้ถ้าจำนวน ไวรัสในเลือดเพิ่มขึ้นเกิน 10,000 copy/มล.

ข้อควรระวังในการใช้ยา


               การใช้ยาไม่ถูกต้อง เช่น การใช้ยาที่ไม่สามารถลดปริมาณไวรัสได้ดีพอ เป็นสาเหตุทำให้ไวรัสดื้อยา (drug resistant variant) และไวรัสที่ดื้อยาเหล่านี้จะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสในเวลาต่อมาล้มเหลว และจะล้มเหลวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการรักษาครั้งต่อๆ มา ด้วยเหตุผลนี้แพทย์ผู้ดูแลรักษาทุกคนควรเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหานี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด เพราะปัญหานี้มีความสำคัญมากกว่าการรักษา เนื่องจากเมื่อไวรัสดื้อยาขึ้นมาแล้ว การรักษาต่อมาจะประสบความสำเร็จได้ยากมาก และที่น่าเป็นห่วงก็คือ การเกิด T-cell tropie syneytium-indueing variant HIV ซึ่งเป็นสายพันธุ์ดื้อยาที่มีความรุนแรง และจะทำให้ระดับภูมิคุ้มกัน CD4 ลดลงอย่างรวดเร็ว การดำเนินของโรคเร็วขึ้น และเสียชีวิตเร็วกว่าสายพันธุ์อื่น insufficient antiviral poteney

ความจริงของยารักษาโรคเอดส์ 


               ปัจจุบันเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อ โดยการใช้ยาต้านไวรัสแต่เพียงอย่างเดียว เพราะยาต้านไวรัสมี

ทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่ในตัวของมัน 


               1. ข้อดี โดยการใช้สูตรยา HAART เป็นการใช้ยา 3 ตัวขึ้นไปคนไข้ที่ได้รับยาสูตรนี้ภายในระยะเวลา 4-6 เดือนเชื้อไวรัสจะลดลงจนไม่สามารถตรวจพบได้ ส่งผลให้ภูมิคุ้มกัน CD4 เกิดการเพิ่มขึ้น

               2. ข้อเสีย คือ อาจจะก็ให้เกิดภาวะผิดปกติ ร่วมทั้งกลุ่มอาการ ( Syndrom ) ที่สืบเนื่องจากการใช้ยาต้านไวรัส เช่น ตับอักเสบ,ไขมันในเส้นเลือดสูง,เป็นเบาหวาน,โรคไต,ปลายประสาทอักเสบ,มีอาการปวดเมื่อยตามข้อตามตัว,มีผื่นขึ้นตามตัว,เกิดภาวะไขมันเคลื่อนย้าย,แก้มตอบ,แขนขาลีบ,พุงโต ด้วยเหตุผลนี้แนวคิดในการรักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัสเพียงอย่างเดียวได้เปลี่ยนไป

               แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะใช้วิธีรักษาที่สมบูรณ์แบบ 2 ทางที่เรียกว่า Complementary treatment หมายถึงการรักษา ระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน ควบคู่ไปกับแพทย์ทางเลือก Alternative medicine โดยมีหลักการดังต่อไปนี้

               1. จะใช้ยาต้านไวรัสเพื่อลดจำนวนเชื้อไวรัส จนไม่สามารถตรวจพบได้ (ปริมาณไวรัสต่ำกว่า 50 หรือ 20 ตัว/ลบ.มม.)

               2. จะใช้วิธีป้องกันข้อเสียของยาต้านไวรัส โดยการซ่อมสร้างร่างกายโดยใช้วิธีที่เรียกกันว่าแพทย์ทางเลือก (Alternative medicine) เช่นการใช้ยาสมุนไพรแบบสกัดที่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เชื่อได้ว่า มีฤทธิ์ในการปกป้อง ซ่อมสร้างร่างกาย เช่น ปกป้องตับ โดยการใช้ สมุนไพรเห็ดหลินจือ,ชะเอมเทศ, ลูกใต้ใบ, ฟ้าทะลายโจร, มะระขี้นกก็ยังมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย การใช้วิตามิน C วิตามิน B6 วิตามินรวมเกลื่อแร่ การใช้น้ำมันปลาในกลุ่มโอเก้า 3 ป้องกันไขมันในเส้นเลือดสูง การออกกำลังกายเสริมสร้างกล้ามเนื้อการใช้ผลิตภัณฑ์ เสริมอาหารบางชนิดช่วยด้วยสิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะช่วยให้อาการของผู้ป่วยดีขึ้น สามารถช่วยปกป้องผลข้างเคียง ที่เกิดจากยาต้านไวรัส และต้องคอยเฝ้าระวังเจาะเลือดตรวจตับ ตรวจไตตรวจไขมันในเส้นเลือด ตรวจน้ำตาลใน เลือดทุก 3 เดือนหรือเจาะเลือดตรวจทันที ที่สงสัยว่าอาจจะมีผลข้างเคียงที่สืบเนื่องมาจากการใช้ยาต้านไวรัส

               จากแนวคิดการรักษาโดย การใช้ยาต้านไวรัส ควบคู่กันไปกับการซ่อมสร้างร่างกาย Complementary treatment ดังกล่าว ซึ่งวิธีการนี้มันก็เหมือนกับการรักษาคนไข้ที่เป็นวัณโรค เช่นถ้าแพทย์ที่รักษาให้แต่ยารักษาวัณโรคอย่างเดียว โดยที่ไม่ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายของคนไข้ควบคู่ร่วมไปด้วย เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า คนไข้มักจะโซมผอมแห้ง มาก เพราะฉะนั้นการรักษาคนไข้ HIV จึงควรรักษา 2 ทางควบคู่กันไป จะได้ผลที่ดีกว่า การให้แต่ยาต้านไวรัสเพียงด้านเดียว แต่สมุนไพรและวิตามินบางอย่าง ไม่สามรถ ใช้รวมกันได้เช่น สโตคริน (Stocrin) ไม่สามารถ รับประทานกับ กระเทียมสกัดได้ครีซีแวน (Crixivan) ไม่สามารถ รับประทาน กับวิตามิน C ได้ยังมีข้อที่ต้องควรระวังอีกมากมายไม่ว่าเรื่องสมุนไพร บางตัวที่ไม่สามารถ รับประทานติดต่อกันได้นานเช่น ฟ้าทะลายโจร ถ้ารับประทานติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้ควาดันในเลือดต่ำได้ เป็นต้น


เพร็ป (PrEP) คืออะไร

เพร็ป (PrEP) 



เพร็ป คืออะไร?


               เพร็ป (PrEP) ย่อมาจาก PreExposure Prophylaxis และเป็นส่วนสำคัญของการให้บริการการป้องกันเชื้อเอชไอวี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้ที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี แต่มีความเสี่ยงสูง เพร็ปคือสูตรยาต้านไวรัสที่ให้ทานเป็นประจำวันเพื่อลดความเสี่ยงต่อการติด เชื้อเอชไอวี ถ้าเขาไปรับเชื้อมา ทุกวันนี้ เพร็ป ให้ผลที่มีประสิทธิภาพมากในกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสองที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สูตรยานี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพใน การลดการติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่ ในกลุ่มชายหญิงทั่วไป และในกลุ่มผู้ใช้เข็มฉีดยาเสพติด


               ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 National Institures of Health (NIH) หรือสถาบันวิจัยสุขภาพ ได้ประกาศผลการวิจัยว่า ในการจ่ายยาต้านไวรัสนั้น สามารถป้องกันเอชไอวีด้วยได้หรือไม่ ผลปรากฎว่า ยาทานที่หลายคนรู้จักในนาม ทรูวาด้า (Truvada) ให้ผลโดยเฉลี่ยถึง 44% ในการเพิ่มการป้องกันเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายรักชาย และสาวประเภทสอง ที่ได้รับประทานยาต่อเนื่องเป็นเวลาหนึ่งเดือน ควบคู่ไปกับตรวจเลือด และใช้ถุงยางอนามัย รวมถึง การมีเพศสัมพันธ์วิธีอื่นโดยป้องกัน


               การศึกษายังอยู่ในระหว่างงานวิจัยว่ายาต้านจะสามารถใช้ได้ผลในกลุ่มชายหญิง และผู้ใช้ยาหรือไม่ โดยผลปรากฎว่า การรับประทานยาทรูวาด้า สำหรับผู้หญิง ที่ออกมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554 นั้น ยังไม่ปรากฏผลงานวิจัยออกมา


               กองควบคุมโรค หรือ CDC คือหน่วยงานหลักในการพัฒนานโยบายในการให้บริการการรับประทานยาเพร็ป ทว่า ขณะที่ยังรอการอนุมัติอยู่นั้น กองควบคุมโรค ได้พัฒนาวิธีการจ่ายยาเพร็ปสำหรับป้องกันเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มชายรักชายที่มีความเสี่ยงสูงแล้ว นอกจากนี้ กองควบคุมโรค สหรัฐอเมริกา ยังออกคำแนะนำให้กลุ่มชายรักชาย ดังนี้


               ณ ปัจจุบันนี้ เพร็ป ให้ผลในการลดการติดเชื้อเอชไอวี ในกลุ่มชายรักชาย หรือไบเซ็กช่วล และสาวประเภทสอง ที่มีเพศสัมพันธ์กับชายเท่านั้น และยังไม่มีข้อมูลรองรับถึงประสิทธิภาพสำหรับชายหญิง และผู้ใช้ยาเสพติด


               เพร็ป ควรใช้ในกลุ่มบุคคลที่ได้รับการรับรองว่าเป็นผู้ไม่มีเชื้อเอชไอวีเท่านั้น การตรวจเชื้อเอชไอวีในขั้นตอนแรกของการรับบริการ และการตรวจอย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญมากต่อผู้ที่ใช้เพร็ป และผู้ที่ทานยาเพร็ปทุกท่านจะต้องดูแลและประเมินสุขภาพ เพราะการทานยาอาจมีผลข้างเคียง


               ผู้ที่รับประทานยา เพร็ป ไม่ควรมองว่าเพร็ปเป็นวิธีแรกที่จะป้องกันเอชไอวี แต่ให้มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีประสิทธิภาพ เมื่อทานควบคู่ไปกับ การตรวจเชื้ออย่างสมำ่เสมอ และการป้องกันวิธีอื่นๆ ด้วย ดังนั้น กลุ่มชายรักชายจะยังคงต้อง

- ใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง และทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
- ตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรู้สถานะของตัวเอง
- ตรวจและรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของท่านอย่างสม่ำเสมอ เพราะโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- รับข้อมูลและคำแนะนำของการรับประทานยาทุกครั้ง รวมถึง ลดความเสี่ยงในการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันและการใช้ยาเสพติด
- ลดจำนวนคู่นอนลง


               การรับประทานยา เพร็ป เป็นประจำทุกวันสำคัญมาก เพราะงานวิจัยระบุว่า เพร็ป ให้ผลในการป้องกันในระดับที่สูง ในกลุ่มที่ทานเป็นประจำ การป้องกันจะไม่ได้ผลในกลุ่มที่ไม่ทายาอย่างต่อเนื่อง

- การทานยาเพร็ปจะต้องทานควบคู่ไปกับ การได้รับคำปรึกษาเรื่องสุขภาพและตรวจเอชไอวี และมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
- ผู้ใดที่คิดว่าตัวเองควรได้รับประทานยาเพร็ป ควรปรึกษาแพทย์