วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 2 : NNRTIs

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 2  : NNRTIs


               ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ (NNRTIs: Non-nucleoside reverse-transcriptase inhibitors) เป็นกลุ่มยารับประทานหนึ่งหมวดที่ถูกนำมารักษาโรคเอดส์หรือเอชไอวี มีการพัฒนายา กลุ่มนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) และถูกนำมาใช้ทางการแพทย์ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ.2552) เป็นจำนวน 4 รายการ และมักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น ด้วยเชื้อไวรัสสามารถพัฒนาตัวเองให้ทนต่อยาที่นำมาใช้รักษาได้มากขึ้นเรื่อยๆ
             
               เป็นที่ทราบกันดีว่าไวรัสเอชไอวีแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เอชไอวี 1 และ เอชไอวี 2 ชนิดที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือเอชไอวี 1 ในขณะที่ชนิดเอชไอวี 2 จะแพร่ระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก จากการเก็บสถิติตัวเลขจำนวนผู้ป่วยพบว่า ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) มีผู้ป่วยด้วยโรคเอดส์ทั่วโลกถึงประมาณ 40 ล้านคน

               ยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่นำมาบำบัดอาการป่วย ไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้อาการป่วยทุเลา และยืดระยะเวลาการมีชีวิตได้ยาวนานขึ้น ส่วนใหญ่ยาต้านไวรัสเอดส์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมามีวัตถุประสงค์ของการบำบัดอาการป่วยจากไวรัสกลุ่มเอชไอวี 1 ซึ่งรวมถึงยากลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอนี้ และกลุ่มเอ็นอาร์ทีไอ (NRTIs: Nucleoside reverse transcriptase) ด้วย

               สำหรับยาต้านไวรัสกลุ่มเอ็นเอ็นอาร์ทีไอประกอบด้วยตัวยาต่างๆ ดังนี้ เช่น Efavirenz, Nevirapine, Delavirdine, Etravirine, Rilpivirine

               ยาต้านไวรัสเอดส์ส่วนใหญ่ที่รวมถึงยาเอ็นเอ็นอาร์ทีไอขึ้นทะเบียนในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณดังนี้
- บรรเทาอาการป่วยด้วยโรคเอดส์
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอดส์/เอชไอวีหลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

- ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะเข้าไปทำให้กระบวนการจำลองของสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ในตัวไวรัสสูญเสียความสามารถในการเปลี่ยนไปเป็นสารพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ด้วยกลไกนี้จึงทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสเอดส์ชะลอตัวลง และทำให้อาการของผู้ป่วยบรรเทาและดีขึ้น

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาน้ำขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาเม็ดขนาด 25, 50, 100, 200 และ 600 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีขนาดรับประทานอย่างไร?

               ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีหลายชนิด ในที่นี้ขอยกตัวอย่างเฉพาะชนิดยาที่ใช้บ่อยซึ่งมีขนาดรับประทานดังนี้

1. Efavirenz

ก. ผู้ใหญ่และเด็กที่มีน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไป: รับประทานวันละ 600 มิลลิกรัมวันละครั้ง
ข. เด็กอายุ 3 - 17 ปี:
- น้ำหนักตัว 32.5 - 40 กิโลกรัม: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 25 - 32.5 กิโลกรัม: รับประทาน 350 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 20 - 25 กิโลกรัม: รับประทาน 300 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 15 - 20 กิโลกรัม: รับประทาน 250 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- น้ำหนักตัว 13 - 15 กิโลกรัม: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้ง
*หมายเหตุ:
- ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เพียงพอในการใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี การใช้ยา จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
- สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ และมักใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

2. Nevirapine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วปรับเป็น 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุ 8 ปีขึ้นไป: รับประทาน 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละครั้งเป็นเวลา 14 วัน แล้วปรับเป็น 4 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น
- เด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี ขนาดยาขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
*หมายเหตุ: สามารถรับประทานยานี้ก่อนหรือพร้อมอาหารก็ได้ และมักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ ตัวอื่น

3. Etravirine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง เช้า - เย็น สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้ มักใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับอายุและน้ำหนักตัวของเด็กรวมทั้งดุลพินิจของแพทย์ ควรรับประทานยานี้หลังอาหาร

4. Rilpivirine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 25 มิลลิกรัมวันละครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย
*หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อช่วยการดูดซึมยาที่ดีขึ้น
- ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

5. Delavirdine

- ผู้ใหญ่: รับประทาน 400 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง
- เด็ก: การใช้ยานี้ในเด็กยังอยู่ในการศึกษาวิจัย
*หมายเหตุ:
- สามารถรับประทานยาพร้อมอาหารหรือหลังอาหารก็ได้
- ยานี้ใช้ร่วมกับยาต้านไวรัสเอดส์ตัวอื่น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

               เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

- หากลืมรับประทานยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
- อนึ่ง ในผู้ป่วยแต่ละราย แพทย์อาจแนะนำวิธีรับประทานเมื่อลืมรับประทานยาต่างกันได้ขึ้นกับอาการของโรค ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ล่วงหน้าไว้ก่อนว่า ควรทำอย่างไรเมื่อลืมรับประทานยา
- อย่างไรก็ตาม การลืมรับประทานยานี้บ่อยๆหลายครั้ง ย่อมส่งผลเสียต่อผู้ป่วยโดยตรงและอาจทำให้อาการโรคลุกลามมากยิ่งขึ้น


ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

- ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอสามารถทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น มีอาการผื่นคัน เป็นพิษกับตับ/ตับอักเสบ (ซึ่งหากพบอาการตับทำงานผิดปกติต้องหยุดใช้ยา) มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์และคลอเรสเตอรอลในเลือดสูง ปวดท้อง ปวดศีรษะ ไตวาย โลหิตจาง เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หงุดหงิด นอนไม่หลับ วิงเวียน และอ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

               มีข้อควรระวังการใช้ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอดังนี้
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอ
- ห้ามใช้ Efavirenz ร่วมกับยาต่อไปนี้ คือ Terfenadine (ยาแก้แพ้), Astemizole (ยาแก้แพ้), Cisapride (ยาโรคกระเพาะอาหาร), Midazolam (ยาให้นำเพื่อให้ง่วงนอนก่อนการให้ยาสลบ), Triazolam (ยานอนหลับ), Pimozide (ยารักษาโรคทางจิตเวช), Bepridil (ยาโรคหัวใจ), และ Voriconazole (ยาต้านเชื้อรา)
- พบแพทย์เพื่อตรวจสภาพร่างกายหลังการใช้ยานี้ตามกำหนดนัดหมายอย่างเคร่งครัด
- ปกติหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรจะถูกห้ามการเลี้ยงบุตรด้วยนมมารดา เพื่อป้องกันการส่งผ่านเชื้อไวรัสเอดส์จากน้ำนมมารดา แนะนำให้เลี้ยงบุตรด้วยผลิตภัณฑ์นมที่มีจำหน่ายตามเกณฑ์มาตรฐานของอายุทารก ดังนั้นการใช้ยานี้ในหญิงให้นมบุตรจะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไต โรคตับ หญิงตั้งครรภ์ และเด็ก
- หลังรับประทานยานี้แล้ว มีอาการคล้ายกับการแพ้ยาเกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยาแล้วรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อแพทย์ปรับเปลี่ยนการรักษาที่เหมาะสม
- ควรรับประทานยานี้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปลี่ยนแปลงขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยาเองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

               การใช้ Nevirapine ร่วมกับยาแก้ปวดเช่น Methadone อาจทำให้ฤทธิ์ของการรักษาจาก Methadone ด้อยลงไปหากมีไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเช่น Amiodarone สามารถลดความเข้มข้นของยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจกระทบต่อประสิทธิภาพของการรักษา ควรปรับการรับประทานของผู้ป่วยให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยา Etravirine ร่วมกับยารักษาโรคลมชักเช่น Carbamazepine, Phenobarbital, และ Phenytoin สามารถลดความเข้มข้นของ Etravirine ในกระแสเลือด หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะกับผู้ป่วยเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Efavirenz ร่วมกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดผลเสียต่อตับและสมอง จึงห้ามการรับประทานร่วมกันโดยเด็ดขาด
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยา Delavirdine พร้อมยาลดกรด ควรรับประทานห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ

ควรเก็บรักษายาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไออย่างไร?

               สามารถเก็บยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่อุณหภูมิห้อง เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ


ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาต้านไวรัสเอ็นเอ็นอาร์ทีไอที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า                                                                                          บริษัทผู้ผลิต
Estiva-600 (เอสทิวา-600)                                                                Hetero
Stocrin (สะโตคริน)                                                                           MSD
Neravir (เนราเวียร์)                                                                      GPO
Nevirapine Mylan (เนวิราพีน มายแลน)                                          Mylan
Intelence (อินเทเลนซ์)                                                                  Janssen-Cilag
Edurant (เอดูแรนท์)                                                                      Janssen-Cilag
Viramune (วีรามูน)                                                                        Boehringer Ingelheim
GPO-Vir Z250 (จีพีโอ-เวียร์ ซีท250)                                             GPO
GPO-Vir S30 (จีพีโอ-เวียร์ เอส30)                                                 GPO
Atripla (อะทริพลา)                                                                       Gilead

วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 1 : NRTIs

ยาต้านไวรัสกลุ่มที่ 1 : NRTIs


               ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอ (Nucleoside reverse-transcriptase inhibitors: NRTIs) เป็นหมวดยารับประทานที่ใช้ต้านเชื้อไวรัสที่เรียกว่า รีโทรไวรัส (Retrovirus) ที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์หรือเอชไอวี โดยกลุ่มยาเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางการสร้างสารพันธุกรรมของรีโทรไวรัส ทำให้การแพร่พันธุ์ของไวรัสชะลอตัว จึงส่งผลให้สภาพร่างกายผู้ป่วยดีขึ้น มีอายุยืนยาวกว่าผู้ที่ติดเชื้อเอดส์แต่ไม่ได้ทำการรักษา ยาในกลุ่มนี้ประกอบด้วย Zidovudine, Didanosine, Zalcitabine, Stavudine, Lamivudine, Abacavir, Emtricitabine, Entecavir

               โดยทั่วไปทางการแพทย์มักใช้ยาต้านไวรัสเอดส์มากกว่า 1 ชนิดให้กับผู้ป่วย อาจจะเป็นเหตุผลด้านประสิทธิภาพของการรักษาและลดอาการข้างเคียงของยาตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับร่างกายของผู้ป่วยว่าตอบสนองต่อตัวยาได้ดีเพียงใด อย่างไรก็ตามกลุ่มยาเหล่านี้ไม่สามารถรักษาโรคเอดส์ให้หายขาดได้ เพียงแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นรวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต

               ยาต้านไวรัสเอดส์ส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนในหมวดยาควบคุมพิเศษ ผู้ป่วยไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป การรับยาต้องผ่านทางสถานพยาบาลที่ลงชื่อรักษาไว้ และต้องมีใบสั่งจากแพทย์ประกอบในการรับยากลับบ้าน

ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?


               ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีสรรพคุณดังนี้
- บรรเทาอาการป่วยของโรคเอดส์
- ใช้ป้องกันการติดเชื้อเอดส์หลังการสัมผัสเลือดของผู้ป่วย
- ใช้ป้องกันและลดโอกาสการติดเชื้อเอดส์จากมารดาสู่ทารกในครรภ์
- ยาบางตัวในยากลุ่มนี้ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบ บี (เช่น Lamivudine)

ยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?


               กลไกการออกฤทธิ์ของยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอคือ เนื่องจากรีโทรไวรัสจะใช้เอนไซม์ที่ชื่อว่า Reverse-transcriptase เปลี่ยนสารพันธุกรรมชนิดอาร์เอ็นเอ (RNA) ไปเป็นชนิดดีเอ็นเอ (DNA) ซึ่งทำให้ไวรัสชนิดนี้แพร่พันธุ์และสามารถทำลายระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายมนุษย์โดยเฉพาะเม็ดเลือดขาวที่มีชื่อว่า ซีดี4 (CD4: Cluster of differentiation 4 ) ซึ่งยาต้านไวรัสเอ็นอาร์ทีไอจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการดังกล่าว ทำให้ชะลอการแพร่พันธุ์ของรีโทรไวรัส ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น และยืดระยะเวลาของการมีชีวิตได้มากกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการรักษา

ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?


               ยาต้านไวรัสเอ็นทีอาร์ไอมีรูปแบบการจัดจำหน่ายดังนี้
- ยาน้ำ ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาแคปซูล ขนาด 15, 20, 30, 100, 250, 300 และ 400 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาเม็ด ขนาด 25, 125, 150, 200 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดผสมตัวยาต้านไวรัสมากกว่า 1 ชนิดขึ้นไป

วันศุกร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2560

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs

โภชนาการสำหรับผู้ป่วย HIV/AIDs




               อาหารที่รับประทานตามปกติอาจจะเพียงพอที่จะให้คุณค่าทางโภชนาการแก่ผู้ติดเชื้อ HIV อยู่แล้ว แต่ผู้ป่วยโรคเอดส์มักจะมีอาการเบื่ออาหารและทานอาหารได้ยากเนื่องจากแผลในปากและคอ โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้องได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผลข้างเคียงจากการใช้ยาอาจส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญอาหารของร่างกายโดยเฉพาะไขมันมีการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย ผู้ป่วยควรจะต้องรับประทานให้มากๆ เพื่อให้ร่างกายพร้อมต่อสู้กับภาวะความเจ็บป่วย และทดแทนน้ำหนักที่สูญเสียไป อาหารที่รับประทานควรจัดให้ครบหมู่และมีความสมดุล และเลือกรับประทานชนิดอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย ครอบคลุมกลุ่มของอาหาร ได้แก่

               อาหารกลุ่มแป้ง: เช่น ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เผือก เป็นต้น จะให้พลังงานแก่ร่างกาย รวมถึงเกลือแร่ วิตามินและกากใยอาหาร ผู้ป่วยควรทานอาหารกลุ่มนี้ในทุกมื้ออาหาร โดยทานวันละ 4-6 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับข้าวหนึ่งถ้วย หรือขนมปัง 1 แผ่นหรือธัญพืช เช่น ซีเรียล 1 ชาม)

               ผักและผลไม้: ให้วิตามิน เกลือแร่ และ กากใยอาหาร ควรรับประทานทุกวัน วันละ 5 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับผลไม้ 1 ผล หรือผักสดชามใหญ่ หรือผลไม้แห้ง 1 ถ้วย หรือน้ำผลไม้คั้นสด 1 แก้ว)

               เนื้อสัตว์ ไข่ ถั่ว: ให้ทั้งโปรตีน เกลือแร่ และวิตามิน ทานวันละ 2-3 ส่วนทุกวัน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับไข่ 2 ฟองเล็ก หรือเนื้อหมู ไก่ 100 กรัม หรือ เนื้อปลา 150 กรัม)

               ผลิตภัณฑ์จากนม: เช่น นมสด โยเกิร์ต เนยแข็ง ซึ่งเป็นแหล่งของวิตามิน เกลือแร่ และแคลเซียม ควรทานวันละ 3 ส่วน (1 ส่วน ประมาณเท่ากับนม 1 แก้ว หรือโยเกิร์ต 1 ถ้วย หรือเนยแข็ง 1 แผ่น)

               ไขมัน: จากน้ำมันพืชที่ใช้ปรุงอาหาร เนย เนยเทียม รวมถึงไขมันที่อยู่ในเนื้อสัตว์ ซึ่งจะให้พลังงาน กรดไขมันที่จำเป็น วิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามิน A, D, E, K แคลเซียมและฟอสเฟต อย่างไรก็ดีหากทานอาหารพวกไขมันมากเกินไป อาจส่งผลให้เกิดภาวะโรคอ้วน และโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ น้ำมันจากปลาซึ่งมีกรดไขมัน omega-3 สามารถช่วยลดระดับไขมันที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเช่น triglycerides และ LDL cholesterol และเพิ่ม HDL cholesterol ซึ่งมีประโยชน์ต่อร่างกายได้


               เนื่องจากผู้ป่วยอาจทานอาหารได้ยาก การเปลี่ยนรูปแบบการทานจากมื้อใหญ่ๆ มาเป็นมื้อเล็กๆ แต่ทานบ่อยๆ จะช่วยให้ทานได้ง่ายขึ้น กระเพาะอาหารดูดซึมสารอาหารได้และควรทานอาหารอ่อนๆ ที่ทานได้คล่องคอร่างกายของผู้ติดเชื้อ HIV ที่ยังไม่แสดงอาการ จะมีความต้องการพลังงานจากอาหารมากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 10% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่และจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีก 20-30% เมื่อเริ่มแสดงอาการหรือเป็นโรคเอดส์แล้ว ส่วนผู้ป่วยเด็กที่น้ำหนักตัวเริ่มลดจะต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นอีกกว่า 50% เพื่อคงน้ำหนักตัวให้คงที่แม้ว่าในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาเพียงพอที่จะยืนยันปริมาณโปรตีนและไขมันที่ต้องการเป็นตัวเลขชัดเจน เมื่อติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยอาจต้องทานอาหารกลุ่มโปรตีนมากขึ้น 50-100% ของปริมาณปกติ คือประมาณ 85 กรัมต่อวันสำหรับผู้ชาย หรือ 72 กรัมต่อวันสำหรับผู้หญิง เพื่อช่วยในการสร้างกล้ามเนื้อที่สูญเสียไป และควรมีอาหารกลุ่มที่ให้พลังงานเพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำหนักตัว วิตามินและเกลือแร่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแต่ก็ควรจะได้มาจากการทานอาหารให้เพียงพอ เพราะการทานวิตามินเสริมปริมาณสูง เช่น วิตามินเอ สังกะสีหรือเหล็ก อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยที่ทานยาต้านไวรัสเอดส์


               ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์มักจะพบผลข้างเคียง คือภาวะผิดปกติของไขมัน (lipodystrophy) โดยรูปร่างของผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแปลง ไขมันในเลือดสูงขึ้น และอาจส่งผลต่อการเกิดโรคหัวใจหรือเบาหวานได้ เมื่อผู้ป่วยเริ่มได้รับยาต้านไวรัสเอดส์ ควรจะลดอาหารกลุ่มไขมัน โดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว ซึ่งจะมีมากในกลุ่มเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากนม และไขมันอิ่มตัวจากน้ำมันปาล์มและมะพร้าว เมื่อพบว่าผู้ป่วยมีภาวะไขมันในเลือดสูง จะต้องปรับอาหารโดยเน้นการทานผักและผลไม้ ประมาณ 5 ส่วนต่อวัน ร่วมกับการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งจะช่วยเสริมการสร้างกล้ามเนื้อและผ่อนคลายความเครียดและทำให้รับประทานอาหารได้มากขึ้น

อาหารเสริม


               ผู้ติดเชื้อ HIV จำนวนมาก หันมาทาน วิตามิน อาหารเสริม รวมถึงยาสมุนไพรมากขึ้น เพื่อหวังว่าจะช่วยให้ภูมิต้านทานในร่างกายดีขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันมาก เพราะคงไม่สามารถหาข้อสรุปที่ชัดเจนได้ง่ายนัก โดยเฉพาะเมื่อเริ่มให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัสเอดส์ ผู้ป่วยอาจทานอาหารเสริมหลากหลายชนิด และเปลี่ยนแปลงชนิดบ่อยๆ ทำให้การติดตามผลเป็นไปได้ยาก อย่างไรก็ตามมีการศึกษาบางอย่างชี้ว่าอาหารเสริมบางชนิดมีผลต่อการรักษา เช่น สารสกัดจากกระเทียมซึ่งเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโรคเกี่ยวกับหัวใจ มีผลทำให้ประสิทธิภาพการรักษาด้วยยา Saquinavir ลดลง และอาจส่งผลต่อการออกฤทธิ์ของยากลุ่ม Protease inhibitor ตัวอื่นๆ เช่นกัน อีกตัวอย่างหนึ่งคือ สมุนไพร St. John’s wort ซึ่งใช้มากในต่างประเทศ พบว่ามีผลลดระดับยาในเลือดของ Indinavir ซึ่งเป็นยากลุ่ม Protease inhibitor เช่นกัน และอาจส่งผลต่อยากลุ่ม NNRTIs ด้วย


               ในประเทศไทยเองก็มีผู้ป่วยบางกลุ่มสนใจใช้สมุนไพรหลายชนิดรักษาเสริมกับการใช้ยาต้านไวรัสเอดส์ แต่ทั้งนี้พึงระลึกเสมอว่าสมุนไพรก็มีสารซึ่งอาจจะมีผลเปลี่ยนแปลงการรักษาของยาได้เช่นกัน ทางที่ดีหากจะใช้สมุนไพรร่วมในการรักษาก็ควรแจ้งให้แพทย์ผู้ดูแลการรักษาทราบ เพื่อติดตามผลด้วย